ตำราเล่มนี้ได้ถูกแต่งขึ้นมาจากความตั้งใจอันแน่วแน่ของ รศ.ดร.เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช ผู้ได้ปฏิบัติงานทั้งในด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการออกแบบโครงสร้างป้องกันคลื่น รวมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านสมุทรศาสตร์และสัณฐานชายฝั่ง ให้กับภาครัฐและเอกชนมามากกว่า 100 โครงการ หลายครั้งที่โครงสร้างบริเวณชายฝั่งได้รับความเสียหาย ซึ่งเกิดจากผู้ออกแบบโครงสร้างดังกล่าวไม่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมชายฝั่งที่เพียงพอ จนต้องทำให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งได้รับความเดือดร้อน ภาคเอกชนต้องสูญเสียทรัพย์สิน และภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น
ประเทศไทยต้องการวิศวกรชายฝั่งจำนวนมากเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การออกแบบเขื่อนกันคลื่นเพื่อท่าเรือและพื้นที่ถมทะเล การประเมินความรุนแรงของคลื่นที่ปะทะกับโครงสร้างในทะเล หรือแม้แต่การจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ด้านวิศวกรรมชายฝั่งเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีตำราด้านวิศวกรรมชายฝั่งที่มีเนื้อหาที่ครอบคลุมตั้งแต่ทฤษฎีเบื้องต้นจนถึงการนำไปประยุกต์ใช้เลยแม้แต่เล่มเดียว รศ.ดร.เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช จึงได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจแต่งตำราเล่มนี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่สนใจหรือผู้ที่กำลังศึกษาศาสตร์ด้านวิศวกรรมชายฝั่ง ได้ใช้เป็นคู่มือแนวทางในการปฏิบัติหรือใช้เป็นตำราในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต
รศ.ดร.เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตำราเล่มนี้จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย และจะสร้างความรู้ จุดประกายความคิดให้แก่วิศวกร นิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการพัฒนาชายฝั่งอย่างยั่งยืนด้วยวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมชายฝั่ง
** ตอนนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท) ได้ตีพิมพ์ตำราของผมแล้ว และผมได้มอบลิขสิทธิ์ของตำราให้ วสท. ไปแล้วครับ เพื่อให้ วสท. สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ผมจึงไม่สามารถอัปโหลดให้โหลดได้ครับ
วันนี้ วันที่ 11 มีนาคม 2564 มีโอกาสได้มาเดินดู เขื่อนบันไดกันคลื่น ที่เกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ที่ผมได้ออกแบบไว้
น่าชื่นใจ................. ทรายไต่ขึ้นมาบนขั้นบันได จนเกือบถึงชานพักเขื่อน (รูปซ้ายมือ) ในขณะที่เขื่อนเดิมที่ก่อสร้างไว้นานแล้วที่ผมไม่ได้ออกแบบ ทรายด้านหน้าหาดหายไป (รูปขวามือ)
ชาวบ้านเกาะสุกร ชอบเขื่อนที่ผมออกแบบไว้มาก...... นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่ได้ปกป้องชายฝั่งของประเทศไทย
#ขอบคุณกรมโยธาฯ ที่นำเขื่อนที่ผมออกแบบไปสร้าง
# การออกแบบเขื่อนกันคลื่นที่ถูกต้อง จะไม่ทำให้หาดทรายชันขึ้น แต่ทรายกลับไต่ขึ้นมาด้วยซ้ำ
#ใครที่คิดว่าเขื่อนกันคลื่นทำให้หาดหายไป ให้ไปอ่านตำราผมนะครับ แล้วจะรู้ว่าจะออกแบบเขื่อนยังไงให้ทรายไต่ และยั่งยืน
[4 ธันวาคม พ.ศ. 2563] วันนี้ เพื่อนๆ ที่สงขลา ก็โทรมาขอบใจ ผมก็งงว่าจะขอบใจเรื่องอะไร คุยไปคุยมา อ๋อ เขื่อนกันคลื่นที่ผมได้ออกแบบไว้ที่หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา
จำได้ลางๆ ว่า เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2559 ผมได้เดินเลียบชายฝั่งแถวนี้ ชายฝั่งโดนกัดเซาะหนักมากครับ ถนนขาด รถยนต์ตกถนนไปเลย เห็นแล้วสงสารชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่แถวๆ นี้ ไม่รู้ว่าอยู่กับยังไง ต้องเจอกับคลื่นสูงขนาดนี้
ในแง่วิชาการ.....คลื่นแถวๆ จังหวัดสงขลาค่อนข้างรุนแรงมากครับ Offshore significant wave height (หรือพูดง่ายๆ ก็ความสูงคลื่นนอกฝั่ง นั่นละ) มีค่าประมาณ 5.07 เมตร ความสูงคลื่นขนาดนี้ ก็เกือบๆ จะตึก 2 ชั้นนั่นละครับ ตอนฤดูมรสุม คลื่นแบบนี้กัดเซาะถนนขาดแน่นอน บ้านใครอยู่ริมหาดก็คงต้องทำใจ ต้องสูญเสียทรัพย์สิน ดีไม่ดี คลื่นสูงมาแบบไม่รู้ตัว อาจเสียชีวิตได้เลย
ผมก็ได้มีโอกาสใช้ความรู้ที่มี ออกแบบเขื่อนกันคลื่นที่ต้องทนคลื่นขนาดนี้ให้ได้....................
ถัดจาก พ.ศ. 2559 ผ่านมาก็ 4 ปีแล้ว.............................................
วันนี้ เพื่อนถ่ายคลิปมาให้ แล้วบอกว่า เขื่อนกันคลื่นที่ผมออกแบบและก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง นั้นทำหน้าที่ของมันได้ดีจริงๆ คลื่นสูงขนาด 5 เมตรกว่าๆ ปะทะกับเขื่อน แต่กลับมีคลื่นที่กระเซ็นข้ามสันเขื่อน (หรือที่เราเรียกว่า Overtopping discharge) เพียงเล็กน้อย พื้นที่ด้านหลังปลอดภัย ถนนปลอดภัย บ้านเรือนปลอดภัย ชาวบ้านอุ่นใจ
[ 2 ธันวาคม 2563] นั่งอ่านบทความหนึ่ง เรื่อง "เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณชายฝั่งปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หนุนประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน " อ่านแล้วรู้สึกดีใจ ที่เขื่อนกันคลื่นบนฝั่งที่ผมได้ออกแบบให้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว สามารถป้องกันชายฝั่ง ทำให้ชาวบ้านนอนหลับ ไม่ต้องกลัวว่าคลื่นจะกัดเซาะบ้านพวกเขาเหมือนอย่างในอดีต
ความภูมิใจของวิศวกรชายฝั่ง ที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นกำลังใจให้ผมใช้ความรู้ที่มีต่อไป ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้กับพื้นที่ที่กำลังเดือดร้อน
คนไม่มีบ้านอยู่ริมทะเล ไม่มีญาติพี่น้องอยู่ติดทะเล หรือบ้านอยู่ในเมืองห่างจากทะเลหลายสิบกิโลเมตร คงไม่เข้าใจหรอกครับ ว่าคลื่นแต่ละลูกที่ซัดชายฝั่งแล้วกัดเซาะที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดมา มันให้ความรู้สึกอึดอัดใจและทรมาณขนาดไหน
ขอขอบคุณหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนะครับ ที่ช่วยเหลือชาวบ้าน และช่วยป้องกันชายฝั่งของประเทศไทย
Credit รูป:ขอบคุณรูปถ่ายจาก www.greennetworkthailand.com นะครับ
(ถ้าใครอ่านตำรา เรื่อง "วิศวกรรมชายฝั่งและการนำไปใช้" ของผม ก็สามารถออกแบบเขื่อนกันคลื่นแบบที่ผมได้ออกแบบให้กับชาวปากพนัง ได้ครับ
วันนี้ได้มีโอกาส มาเดินดูหาดพระแอะ ที่จังหวัดกระบี่ มาเดินดูเขื่อนกันคลื่นบันไดที่ผมได้ออกแบบไว้เมื่อหลายปีก่อน ก็เห็นว่าเขื่อนบันได มีประสิทธิภาพตามที่ผมได้ตั้งใจออกแบบไว้ ทรายหน้าหาดไม่หายไปแต่กลับไต่ขึ้นมาบนขั้นบันได
พวกเราพอจะทราบกันไหมครับ ว่าความเชื่อที่ว่า "ถ้าสร้างเขื่อนกันคลื่นแล้วหาดทรายด้านหน้าเขื่อนจะหายไปนั้น"..........ไม่จริงเสมอไป และฟังแล้วก็เหมือนบิดเบือนด้วยซ้ำ
ในแง่วิชาการ ทรายหน้าเขื่อนจะหายไป ก็เพราะคลื่นสะท้อนกับเขื่อน เราก็แค่ออกแบบเขื่อนให้คลื่นไม่สะท้อนซะก็เท่านั้นเอง
คลื่นที่ปะทะกับเขื่อนบันได จะสลายไปบนลูกตั้งกับจะงอยหรือที่เราเรียกว่า Parapet เท่านี้ก็จะเหลือคลื่นสะท้อนน้อยมาก
นอกจากนี้ การออกแบบความชันเขื่อนก็มีผลทำให้ทรายไต่ขึ้นมาบนขั้นบันไดได้นะครับ
หากยังเชื่อว่า สร้างเขื่อนคอนกรีตแล้ว หาดทรายด้านหน้าจะหาย ตำรา "วิศวกรรมชายฝั่งและการนำไปใช้" ของผมอาจช่วยเปลี่ยนความเชื่อนั้นได้ หรือไม่ก็ติดต่อผมมาได้ ผมสอนให้ฟรี ไม่คิดเงิน เพราะถ้าออกแบบเป็นหรือมีความรู้ในการออกแบบเพียงพอ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ครับ